การออกแบบบันไดบ้านให้เหมาะสม
ในบ้านที่มีระดับความสูง 2 ชั้นขึ้นไป บันได เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะเป็นตัวช่วยเชื่อมต่อพื้นที่และอำนวยความสะดวกเวลาขึ้นหรือลง การออกแบบบันไดให้ถูกต้องตามหลักสรีรศาสตร์หรือกายศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นความชัน ความกว้าง หรือระยะก้าวที่ไม่เหมาะสม มีวิธีการดังนี้
1. ขนาดของลูกตั้งลูกนอน และจำนวนขั้นที่เหมาะสม : ลูกตั้งและลูกนอนเป็นส่วนที่จะกำหนดระยะยกเท้า และวางเท้า หากขนาดไม่พอดีกับสรีระและไม่สมดุลกัน จะทำให้เดินขึ้นแล้วเหนื่อย และไม่ปลอดภัยในการใช้งาน ในส่วนของลูกตั้ง (แนวตั้งระหว่างขั้นบันได) หรือระยะที่เรายกเท้า ไม่ควรมีความสูงชันมากเกินไป เพราะจะทำให้ก้าวขึ้นลำบากและรู้สึกเมื่อยล้าได้ง่าย ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารกำหนดไว้ว่า ลูกตั้งต้องไม่สูงกว่า 20 ซม. ทั้งนี้โดยเฉลี่ยแล้วความสูงลูกตั้งบันไดที่ทำให้ก้าวเดินสบายไม่สูงหรือต่ำเกินไปจะอยู่ที่ประมาณ 15 - 18 ซม.
2. ส่วนของลูกนอน (พื้นขั้นบันไดที่เท้าเหยียบ) : ต้องมีความกว้างมากพอที่จะวางได้เต็มความยาวเท้า การคำนวณอาจใช้หลักการง่ายๆ เช่น ยึดตามขนาดฝ่าเท้าของสมาชิกในบ้านที่มีรูปร่างเท้ายาวที่สุด โดยขนาดความกว้างที่ใช้ในบ้านทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 26 - 30 ซม. อ้างอิงตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารกำหนดไว้ว่าลูกนอนควรกว้างไม่น้อยกว่า 22 ซม. ซึ่งความสูงและความกว้างสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่และสรีระของผู้ใช้งานในบ้านนั้นๆ เป็นหลัก
จำนวนขั้นบันไดมีข้อถกเถียงกันค่อนข้างมากกว่า ควรเป็นจำนวนเลขคู่หรือเลขคี่ คำตอบคือ เลขคี่จะเหมาะสมกว่าเพราะหากทำบันไดเลขคู่ จะไม่สมดุลในจังหวะการก้าวเดิน โดยธรรมชาติแล้วหากเราก้าวเท้าข้างไหนก่อนต้องจบด้วยเท้าอีกข้างเสมอ เช่น หากเริ่มต้นก้าวเท้าขวาบนบันไดขั้นแรก ก้าวสุดท้ายที่วางบนพื้นชั้น 2 จะต้องเป็นเท้าซ้าย การนับจำนวนขั้นบันได จะนับเฉพาะขั้นบันไดที่มีลูกตั้งและลูกนอนเท่านั้น เมื่อถึงจุดพักในชั้นบนจะได้จังหวะการจับคู่ของขั้นบันไดพอดี ซึ่งเป็นไปตามหลักกายศาสตร์ที่ช่วยให้จังหวะการเดินเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และทำให้น้ำหนักการทรงตัวเป็นไปอย่างสมดุลด้วย
3. ความกว้างของบันไดที่ดี : หลายคนอาจคิดว่าความกว้างของบันไดไม่สำคัญ เพราะใช้เป็นทางสัญจรขึ้นลงระหว่างชั้นเท่านั้น ตัวบันไดแคบหน่อยก็ไม่เป็นปัญหา แต่อย่าลืมว่าบางครั้งก็มีความจำเป็นในการขนย้ายของใช้หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ชิ้นค่อนข้างใหญ่ อาทิ ที่นอน โซฟา ม้านั่งยาว เก้าอี้ไม้สักตัวใหญ่ ตู้เย็น หากพื้นที่บันไดแคบเกินไปจะกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ในการขนของ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร กำหนดให้บันไดบ้านต้องมีขนาดความกว้างไม่ต่ำกว่า 80 ซม. แต่ขนาดที่แนะนำว่าง่ายต่อการขนย้ายของชิ้นใหญ่และสามารถขึ้นได้พร้อมกันหลาย ๆ คน ควรมีขนาด 1-1.2 เมตร จะสะดวกมากขึ้น
4. บันไดสูงต้องมีชานพัก : บ้านบางหลังที่มีระยะห่างจากพื้นถึงเพดานค่อนข้างมาก หากติดตั้งบันไดที่ไม่มีระยะพักเลย ตัวบันไดจะมีความชัน เสี่ยงต่อการพลัดตกได้ง่าย ดังนั้นการทำบันไดจะต้องแบ่งส่วนทำชานพัก เพื่อไม่ให้มีความลาดชันมากเกินไป ซึ่งในทางกฏหมายกำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ข้อ 23 ระบุว่าต้องมีชานพักบันไดทุกช่วง 3 เมตร หรือน้อยกว่านั้น และชานพักบันไดต้องมีความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได ส่วนระยะดิ่งจากขั้นบันไดหรือชานพักบันไดถึงส่วนต่ำสุดของอาคารที่อยู่เหนือขึ้นไปต้องสูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร
5. โถงบันได มีแสงสว่างที่เพียงพอ : บันไดหลายบ้านมักออกแบบติดกับผนังด้านหนึ่ง หรือมีผนังทึบกั้นกันตกขนาบ 2 ข้าง ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นโถงแคบที่ดูมืด ให้ความรู้สึกไม่ปลอดภัยเวลาเดินขึ้น-ลง จึงต้องเพิ่มแสงไฟเข้าไป อาจเพิ่มการติดไฟฝังผนังกระจายแสงทางด้านข้าง ติดไฟขั้นบันไดแบบเซนเซอร์ ติดโคมไฟระย้า เจาะช่องแสงบนผนังเหนือบันได หรือเจาะช่องแสง Skylight ให้แสงสว่างไหลมาจากด้านบน จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานได้มาก ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ และยังลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันได้ด้วย
6. ดีไซน์ของบันได : หากออกแบบบันไดในรูปลักษณ์ที่สวยงามจะทำให้เป็นจุดโฟกัสสายตา เหมือนประติมากรรมขนาดย่อมที่โดดเด่น และยังเป็นความท้าทายในการบริหารพื้นที่ด้วย รูปลักษณ์บันไดมีหลายแบบ ทั้งบันไดตรง บันไดรูปตัว U บันไดรูปตัว L บันไดวน บันไดแบบมีชานพัก บันไดลอยตัวติดกับผนัง ทั้งนี้การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ภายในบ้านที่ต้องตีโจทย์ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ความเข้ากันได้กับสไตล์ของบ้านในภาพรวม ที่สำคัญคือ ต้องไม่ลืมใส่ราวบันไดช่วยพยุงตัวทั้งขึ้น-ลง และเลือกราวจับที่เหมาะกับบันไดด้วย