เสาเอ็นและคานทับหลังคืออะไร
เสาเอ็น คือ ส่วนที่ทำหน้าที่ยึดประตู -หน้าต่างเข้ากับผนัง อยู่ระหว่างผนังก่อนอิฐกับวงกบข้างของประตู-หน้าต่าง และผนังที่ก่อลอยๆ โดยไม่ติดเสาอาคาร ตำแหน่งของเสาเอ็นจะอยู่บริเวณมุมผนังทุกมุมหรือบริเวณที่ผนังก่อติดกับวงกบประตู-หน้าต่าง และบริเวณกลางผนังโดยมีช่วงสูงของเสาเอ็นตลอดความสูงของผนังในกรณีผนังก่อที่กว้างเกิน 3 เมตร
คานทับหลัง คือ ส่วนที่ทำหน้าที่ยึดประตู - หน้าต่างเข้ากับผนัง รับน้ำหนังของผนังที่อยู่เหนือวงกบประตูหรือหน้าต่างและถ่ายน้ำหนักลงไปยังเสาเอ็น ตำแหน่งของคานทับหลังจะอยู่บริเวณด้านบนของวงกบประตู-หน้าต่างและด้านล่างของวงกบหน้าต่าง และบริเวณกลางผนังในกรณีผนังก่อที่ความสูงเกิน 3 เมตร
ถ้าเสาคอนกรีตเปรียบเสมือนกระดูก เสาเอ็นก็เปรียบเสมือนเส้นเอ็นที่ช่วยยึดผนังในแนวดิ่งให้ประสานกับวงกบประตูหรือหน้าต่าง ช่วยให้สามารถรับน้ำหนักของวัสดุ และแรงกระแทกได้มากยิ่งขึ้น
ลักษณะของเสาเอ็นจะทำด้วยการใช้เหล็กเส้นขนาด 6-9 มิลลิเมตร 2 เส้น และต้องทำปลอกลักษณะเป็นห่วงรัดทุก ๆ ระยะ 15 – 20 ซม. ซึ่งมักจะใช้ร่วมกับคานทับหลัง ที่เป็นโครงสร้างของผนัง ใช้ยึดผนังในแนวราบ โดยจะใส่เสาเอ็น และคานทับหลังในทุก ๆ พื้นที่ 5 – 6 ตารางเมตร ของการก่อผนังอิฐแดง ด้วยเหตุนี้เสาเอ็น และคานทับหลัง จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการก่อผนัง ไม่ว่าวัสดุที่ใช้ก่อผนังนั้น จะเป็นอิฐแดง 2 รู 4 รู ตัน อิฐแดง มอก.77,153 (4ช่อง) ก็ล้วนจะเป็นต้องมีคานทับหลังทั้งสิ้น
มาตรฐานของเสาเอ็น และคานทับหลัง
มาตรฐานงานเสาเอ็น และคานทับหลังต้องมีขนาดไม่เล็กกว่า 10 ซ.ม. และมีความกว้างไม่น้อยกว่าความกว้างของผนังอิฐแดง คอนกรีตที่จะหล่อเสาเอ็น และคานทับหลังจะเป็นคอนกรีตที่ใช้หินขนาดเล็ก เพื่อให้ง่ายต่อการเทคอนกรีต ซึ่งใช้อัตราส่วนผสม ปูน 1 ส่วน ต่อทราย 3 ส่วน ต่อหิน 4 ส่วน (1:3:4)
จุดที่ควรใส่เสาเอ็น และคานทับหลัง
เสาเอ็นควรใส่ในมุมทุกมุมของผนัง หรือส่วนที่บานประตูหน้า ต่างปิดทับ เพื่อรองรับแรงกระแทกจากการเปิดปิด และผนังที่มีความยาวมากกว่า 3 เมตร ผนังที่ไม่ได้ก่อติดกับเสา เช่น ผนังกั้นแยกพื้นที่ภายในบ้าน ส่วนคานทับหลัง ควรใส่ในส่วนของขอบของช่องเปิดอาคาร เพื่อใช้สำหรับติดตั้งวงกบ รวมถึงรองรับน้ำหนักผนังที่อยู่ด้านบนของวงกบด้วย และใส่ในส่วนที่ก่อผนังสูงมากกว่า 3 เมตรขึ้นไป
ถ้าไม่ใส่เสาเอ็น และคานทับหลัง ผนังจะเป็นอย่างไร?
ปัญหาของการไม่ใส่เสาเอ็น และคานทับหลังก็คือ ผนังอาจเกิดรอยร้าวในแนวเฉียง บริเวณมุมของวงกบประตู หน้าต่าง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำจากฝนรั่วซึมเข้ามาในตัวบ้าน และทำให้วงกบเกิดการบิดตัว ไม่สามารถปิดประตู หน้าต่างได้ นอกจากนี้แรงกระแทกจากการเปิด ปิดอาจส่งผลต่อความแข็งแรงต่อผนังอีกด้วย